ประวัติ ของ วัดวัง (จังหวัดพัทลุง)

ที่มาของชื่อวัดมี 2 ประการ คือ เนื่องจากทางทิศใต้ของวัดมีวังน้ำลึกมากเรียกว่า "หัววัง" จึงเรียกวัดวัง อีกประการหนึ่งคือ วัดอยู่ใกล้กับวังหรือจวนเจ้าเมืองจึงเรียกวัดวัง วัดสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัดเนื่องจากหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ จากจารึกระบุว่า วัดมีงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2403 ส่วนพงศาวดารเมืองพัทลุง ระบุว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้สร้างวัดวังแต่ไม่ปรากฏปีศักราช ได้ทำการแล้วเสร็จ มีการฉลองเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2359

หนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์สกุลเมืองพัทลุงซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ระบุว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น มีอุโบสถ พัทธสีมา และวิหาร และเป็นวัดสำหรับรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่ในหนังสือประวัติวัดวังของหลวงคเชนทรามาตย์ ระบุไว้ว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง (ขุน) เป็นหัวหน้านำญาติพี่น้องและชาวบ้านปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น ส่วนคุณยายประไพ มุตตามระ (จันทโรจวงศ์) บุตรีหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์ ผู้เขียนพงศาวดารเมืองพัทลุง) ระบุว่า วัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2331 จากหลักฐานดังกล่าวพอสรุปได้ว่า วัดวังสร้างก่อน พ.ศ. 2359 โดยมีจุดประสงค์คือเป็นวัดประจำเมืองหรือประจำตระกูล และเมื่อสร้างวัดวังขึ้นแล้ว เห็นว่าวัดควนมะพร้าวซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากเกินไป จึงได้พิจารณายกวัดวังขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา[1]

วัดวังเริ่มทรุดโทรม จนราว พ.ศ. 2512 ทางราชการจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดวัง[2]